วันนี้ (30พฤษภาคม 2565) เวลา 09.00 น.ณ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจันทบุรี จังหวัดจันทบุรีพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง รองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลางลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยมี นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรให้การต้อนรับพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดจันทบุรี และอาสาสมัครฝนหลวงของจังหวัดจันทบุรี ปัจจุบันสนามบินท่าใหม่มีการดำเนินการอยู่ในระยะที่2 ประกอบด้วย การปูยาง A/C Hot Mixed ไหล่ทางวิ่ง การปูยาง A/C Hot Mixed ผิวทางขับ งานลานคอนกรีต ทาสีตีเส้นจราจร งานระบบไฟฟ้าสนามบิน และระบบไฟฟ้าภายใน ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปลายปี 2565 และการดำเนินงานในระยะที่ 3 คือ การสร้างถนนเลี่ยงทางวิ่ง สร้างรั้ว AIRSIDE และรั้วแนวเขต กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2566 เพื่อดำเนินการปรับปรุงระยะที่4 ในปี 2567
สำหรับความก้าวหน้าการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก มีพื้นที่ความรับผิดชอบ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร จำนวน 12.88 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 2.75 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 10.13 ล้านไร่)พื้นที่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 10 แห่ง ได้แก่ เขื่อนขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำบางพระ คลองหลวงรัชโลธร อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลอ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ อ่างเก็บน้ำพระปรง และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาโดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี มีผลการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 ถึง 28 พฤษภาคม 2565 มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง รวม 30 วัน รวม 102 เที่ยวบิน ทำให้มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 93.3 มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 7.1 ล้านไร่ สำหรับภารกิจการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อน/อ่างเก็บน้ำในปี 2565 นี้ มีจำนวน 1 แห่ง ได้แก่อ่างเก็บน้ำคลองสียัด ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การเพียง 14% ปริมาณน้ำไหลเข้ารวม 11.94 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการช่วยฟื้นฟูพัฒนาแหล่งอาหารของช้างให้มีความอุดมสมบูรณ์ในบริเวณป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี และสระแก้ว ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก ได้บินปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำของช้างป่า โดยปี 2563 บินปฏิบัติการจำนวน 24 วัน 130 เที่ยวบิน ปี 2564-2565 จำนวน 94 วัน 297 เที่ยวบิน
ทั้งนี้ นายสำเริง แสงภู่วงค์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมของการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2565 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เริ่มปฏิบัติการภารกิจมาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 จนถึงปัจจุบัน ผลการปฏิบัติการ มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการ วันขึ้นบินปฏิบัติฝนหลวง รวม63วัน 602เที่ยวบิน มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 83.7ล้านไร่ และทำให้มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 33แห่ง ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน รวม 24.3 ล้านลูกบาศก์เมตรและถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีสภาวะฝนค่อนข้างดี แต่ยังคงมีอีกหลายๆ พื้นที่ที่ยังต้องการน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มทำการเพาะปลูก ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะได้ติดตามสถานการณ์น้ำ และสภาวะอากาศอย่างใกล้ชิดเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ขอรับบริการฝนหลวง และรองรับสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่อาจจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ อันเป็นการดำเนินงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรต่อไป