ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จัดการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี 2565 เพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขวิกฤตของชาติทางทะเล เป็นหลักประกันที่มอบให้กับชาติและประชาชน

วันนี้ (2 กันยายน 2565) พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. มอบหมายให้ พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือในฐานะเลขาธิการ ศรชล.ตรวจเยี่ยมการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี 2565 ในหัวข้อต่างๆ ดังนี้

1.การต่อต้านการก่อการร้ายทางทะเล
2.การปราบปรามการลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงทางทะเล”
โดยมี พลเรือโท ประวิณ จิตตินันท์ รองเลขาธิการ ศรชล. พลเรือโท พิชัย ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการ ศรชล.ภาค 1 ผู้บริหารจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และหน่วยงานหลักทั้ง 7 หน่วยงานใน ศรชล. ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมชมการฝึก บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอ
สัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ในเวลา 10.00 น. เลขาธิการ ศรชล. เดินทางมาถึงเรือหลวงจักรีนฤเบศร หลังจากนั้นได้ร่วมรับฟังการบรรยายสรุปและชมการฝึกการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายทางทะเลและการปราบปรามการลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction : WMD) สินค้าทางทะเลที่ผิดกฎหมายหรือสินค้าต้องห้ามตามพันธกรณีระหว่างประเทศ รวมทั้งการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทางทะเล จากนั้นในเวลา 11.40 น. เลขาธิการ ศรชล. และคณะ ได้เยี่ยมชมการแสดงนิทรรศการ ซึ่งจัดโดย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรมสรรพาวุธทหารเรือ กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ

พลเรือตรี อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล โฆษก ศรชล. กล่าวว่า การฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี 2565 ภายใต้หัวข้อ “การฝึกการต่อต้านการก่อการร้ายทางทะเล และการปราบปรามการลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD)/สินค้าทางทะเลที่ผิดกฎหมายหรือสินค้าต้องห้ามตามพันธกรณีระหว่างประเทศ” โดยใช้กำลังหลักของ ศรชล.ภาค 1 ดำเนินการฝึก ซึ่งการฝึกครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2565 (Crisis Management Exercise:C-MEX22) เป็นการบูรณาการปฏิบัติการร่วมกับกำลังทางเรือของหน่วยงานหลักใน ศรชล. มีเรือจากกองทัพเรือ (เรือหลวงจักรีนฤเบศร,เรือหลวงสิมิลัน, เรือหลวงตากใบ) กรมศุลกากร (เรือ ศก.609) กองบังคับการตำรวจน้ำ (เรือ ตรน.631) เฮลิคอปเตอร์จากกองทัพเรือถึง 3 ลำ (S-70B Sea Hawk,Super Lynx 300 ,S76) ชุดปฏิบัติการพิเศษ จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ(มนุษย์กบ,Navy SEAL)พร้อมนำเรือปฏิบัติการพิเศษแบบใหม่ หรือที่เรียกกันว่า เรือยางท้องแข็งทางยุทธวิธี (Spicial Operations Craft Rigid Hull Inflatable Boat:SOC RHIB) จำนวน 2 ลำ มาร่วมฝึกด้วย พร้อมด้วยชุดแพทย์ฉุกเฉิน จากโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ ชุดถอดทำลายอมภัณฑ์ (Explosive Ordnace Disposal:EOD)จากกรมสรรพาวุธทหารเรือ และชุดตรวจอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง จากกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

สถานการณ์การฝึกครั้งนี้สมมุติให้เรือหลวงสิมิลัน เป็นเรือสินค้าที่ถูกผู้ก่อการร้ายยึดและลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รัฐบาลมอบหมายให้ ศรชล.บูรณาการขีดความสามารถจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความพร้อมสูงสุดในการรับมือกับวิกฤตการณ์ทางทะเล เพื่อเป็นหลักประกันที่มอบให้กับชาติและประชาชนว่า ศรชล. เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในทุกมิติของการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
“ศรชล.ทุกนายมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความรัก ความสามัคคี ความวิริยะอุตสาหะ ด้วยสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด เพื่อผลประโยชน์ทางทะเลแก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างเต็มเปี่ยม”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *