“พลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21”
วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2567
ณ ห้องประชุมสระบุรีวณิชชากร โรงเรียนอนุบาลศาลาแดง
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1
ในระหว่างวันที่ 10-11 สิงหาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้จัดโครงการพัฒนาครูต้นแบบในเขตภาคกลางเพื่อ “พลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21” ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบไปสู่การสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร อันเป็นกิจกรรมสำคัญของการอบรมครูตามโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (1 อําเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระดับประถมศึกษา ที่จุดอบรมโรงเรียนอนุบาลศาลาแดง สพป.สระบุรี เขต 1 และ จุดอบรมอาคารวิทยบริการ สพป.สระบุรี เขต 2 ทั้งนี้มีครูเข้ารับการอบรมรวมทั้งสิ้น 549 คน เพื่อสร้างต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา
ในการอบรมครั้งนี้ ดร.วิภา สายรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม ณ ห้องประชุมสระบุรีวณิชชากร โรงเรียนอนุบาลศาลาแดง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แอปพลิเคชัน Zoom Cloud Meetingsไปยังอาคารวิทยบริการ สพป.สระบุรี เขต 2 โดยกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เห็นความสำคัญของการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่นำไปสู่วิธีการปฏิบัติทั้งในด้านการคิดและการลงมือทำติดตัวผู้เรียน ให้สามารถนำไปใช้ในอนาคตได้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ วิธีการทำงานที่นำสู่ผลที่ดี จึงนำสู่การพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพ ที่สอดคล้องกันกับศตวรรษที่ 21
การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับห้องเรียน ให้ครูเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างและพัฒนาผู้เรียนให้เป็นนวัตกร ที่นำไปสู่การเพิ่มพูนมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Soft Power) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล จึงขอให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านได้ให้ความสนใจในสาระสำคัญและเทคนิคกระบวนการ ให้ความสำคัญกับการลงมือปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง ให้มีทักษะอย่างเพียงพอที่จะไปผลักดันการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ระดับห้องเรียนในการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ที่สามารถประเมินตามสภาพจริงโดยใช้เกณฑ์มิติคุณภาพ (Rubrics) สะท้อนให้เห็นถึงระดับคุณภาพและร่องรอยการพัฒนาของผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม ให้ตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะเป็นการพัฒนานวัตกรรมการสอนของครูให้ส่งผลถึงการสร้างนวัตกรรมของนักเรียน สร้างคุณค่าให้เกิดคุณประโยชน์กับประเทศชาติด้วยการยกระดับพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น นับเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของชาติในระยะยาว
หลังจากที่โรงเรียนได้จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps พบว่า ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาการ โดยมีผลโอเน็ตในทุกกลุ่มสาระ มีหลายโรงเรียนที่เด็กสามารถทำคะแนนได้ 100 คะแนนเต็ม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเด็กด้อยโอกาส และเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ ที่เราจะต้องเติมเต็ม ซึ่งเราจะไม่ทิ้งเด็กกลุ่มนี้ไว้ข้างหลัง โดยบางโรงเรียนก็ได้ใช้หลักการ Active Learning เข้าไปใช้ตามความถนัดของเด็ก ๆ ซึ่งไม่เพียงแค่ส่งเสริมเด็กที่เก่งเท่านั้น แต่เราก็ไม่ลืมเด็กที่อาจจะขาดองค์ความรู้ที่ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป จึงถือว่าการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นคำตอบที่ใช่ และสามารถพัฒนานักเรียนและครูได้อย่างแท้จริง