วช. เชิดชูประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย ผ่านหนังสือ “สยามรัถยา และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทยเมื่อท้องถิ่นสร้างเมือง“

วันที่ 29 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุม หัวข้อเรื่อง “ขุมทรัพย์จากอดีต: ประวัติศาสตร์สยามรัถยา” โดยได้รับเกียรติจาก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พินิจประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิด้วยรากฐานอุดมศึกษา” ซึ่งมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และรองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม World Ballroom ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ไทยมิใช่เพียงลำดับเหตุการณ์ในอดีต หากแต่เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ความรู้ที่ต่อเนื่องและปรับเปลี่ยนได้ตามบริบททางสังคมและพยานหลักฐานใหม่ ๆ การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจึงเป็นมากกว่าการท่องจำข้อเท็จจริง แต่เป็นการตระหนักถึงความเป็นมาของชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอันหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารยธรรมสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของอัตลักษณ์ไทย แม้จะยังขาดการยอมรับในระดับสากล แต่การศึกษาค้นคว้าเชิงลึกจะช่วยยืนยันความเป็นเอกลักษณ์และความเชื่อมโยงของอารยธรรมไทยกับภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ การศึกษาประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมและความสัมพันธ์กับนานาชาติ จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในกระบวนการโลกาภิวัตน์ของไทยและศักยภาพในการเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมในภูมิภาค

ดร.วิภารัตน์ กล่าวเสริมว่า วช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญและสนับสนุนการศึกษาและการวิจัย

เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ โดยมุ่งหวังให้การศึกษานี้เชื่อมโยงกับรากฐานทางอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมการศึกษาและวิจัยในด้านประวัติศาสตร์ภูมิภาคนี้อย่างมีระบบ ประวัติศาสตร์สยามรัถยาถือเป็นขุมทรัพย์จากอดีตที่มีความสำคัญ มุ่งเน้นในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเส้นทางความเจริญของสุวรรณภูมิ จึงได้รวบรวมและบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าจากแหล่งต่าง ๆ รวมถึงเอกสารโบราณ งานวิจัยทางโบราณคดี และข้อมูลทางวรรณกรรมที่มีความสำคัญ ที่ช่วยให้เข้าใจรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามรัถยา ความรู้ที่มีค่าเกี่ยวกับการพัฒนาอารยธรรม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของภูมิภาคสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ วช. มีเป้าหมายเพื่อสร้าง ประวัติศาสตร์ไทยที่ยั่งยืน โดยเสริมสร้างและรักษาอัตลักษณ์ของชาติไทยให้คงอยู่ต่อไป

ทั้งนี้ มีการเสวนา ในเรื่อง “สยามรัถยาและวัฒนาท้องถิ่นไทย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์เพชรรุ่ง เทียนปิ๋วโรจน์ อาจารย์จากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรพร ภู่พงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิมพ์อุมา ธัญธนกุล อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ เป็นผู้ดำเนินรายการ 

การเสวนาครั้งนี้เพื่อตอบคำถามเรื่องเส้นทางของสุวรรณภูมิและความเจริญของประเทศไทยและศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทยเมื่อท้องถิ่นสร้างเมืองจากบุคคลจากท้องถิ่นนั้น ๆ อีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *